วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

ผู้นำที่มีบุญญาบารมี (Charismatic Leader)



ในโลกตะวันตกได้ให้คำนิยามของผู้นำที่มีบุญญาบารมี คือ ผู้นำที่มีอิทธิพลและสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกในกลุ่มได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้นำเช่นนี้เป็นอย่างมากเมื่อตกอยู่สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เพราะผู้นำลักษณะดังกล่าวจะเป็นศูนย์รวมทางจิตใจให้คนรู้สึกเป็นที่พึ่งและร่วมแรงร่วมใจกันฟันผ่าอุปสรรค


เมื่อกล่าวถึงลักษณะของภาวะผู้นำที่มีบุญญาบารมี บุคคลแรกที่ระลึกถึงนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ด้วยเหตุผลที่พระองค์ทรงมีคุณลักษณะของผู้นำดังต่อไปนี้ คือ


1. Inspiration by Words - สร้างแรงบันดาลใจด้วยคำ
การมีพลังในการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการเขียน ซึ่งพลังดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการใช้เสียงดัง แต่พลังมาจากเนื้อหาที่ผู้นำผู้นั้นกำลังสื่อออกไป
พระราชดำรัสของในหลวงยังเป็นสิ่งที่คนไทยมักจะนำมากล่าวถึงในการอ้างอิง เพราะว่าเป็นสัจธรรมและกินใจเสมอ ดังตัวอย่างพระราชดำรัส “ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้ คือการได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า” ซึ่งเป็นประโยคที่ตราตรึงใจประชาชนคนไทยมาจวบจนทุกวันนี้


2. Attractive Personality - มีบุคลิกภาพและอุปนิสัยที่น่าคบหา
การอุปนิสัยที่น่าชื่นชม โดดเด่นในด้านการสร้างสัมพันธภาพ
กรณีของ วาเด็ง ปูเต๊ะ พระสหายแห่งสายบุรี เป็นชาวบ้านที่ในหลวงทรงให้ความไว้วางพระราชหฤทัย โดยทรงตรัสว่า “ไม่ว่าจะไปช่วยใครที่ไหนก็ต้องถามเจ้าของพื้นที่ก่อน…เพราะชาวบ้านจะรู้จริงกว่าคนอื่น” ทรงตรัสให้ความเป็นกันเอง “ให้วาเด็งทำตัวให้สบาย…มีอะไรที่ชาวบ้านเดือดร้อนก็ให้เล่ามาตามความจริง” ซึ่งทำให้ข้อมูลปัญหาที่เป็นความจริงของราษฎรเป็นที่ปรากฏ พระสหายวาเด็งมีความปลาบปลื้มและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณจนแม้จะไม่มีทีวีให้ดู เวลาอยากเห็นหน้าในหลวง ก็จะหยิบเงินมาดู พอมีทีวีแล้วก็จะรอดูแต่ข่าวในพระราชสำนักทุกวัน


3. Good-looking – สง่างาม
ความสง่างามอันเป็นที่ยอมรับนับถือและชื่นชม
พสกนิกรมักจะแสวงหาโอกาสเพื่อออกมาชื่นชมพระบารมี ซึ่งถือว่าเป็นโชคดีครั้งหนึ่งในชีวิตหากได้เข้าเฝ้าละอองธุลีพระบาทแม้ว่าจะไม่สามารถเข้าไปในระยะใกล้พระองค์ก็ตาม


4. Big, exciting Visions – มีวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่***
ความสามารถในการวาดภาพที่สวยงามในอนาคตได้
ในหลวงทรงมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ด้วยโครงการในพระราชดำริต่างๆ ที่รองรับการเปลียนแปลงในอนาคตทั้งสิ้น สิ่งที่พระองค์ทรงงานเพื่อพสกนิกรในอดีตได้บรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน เช่น โครงการแก้มลิงที่ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม หรือพระราชดำริที่เน้นซึ่งความยั่งยืนอย่างเศรษฐกิจพอเพียง โดยพสกนิกรที่ปฏิบัติตนตามแนวพระราชดำริล้วนมีกินและมีความสุขอย่างยั่งยืน แม้แต่ชาวต่างชาติที่มาใช้ชีวิตตั้งรกรากในประเทศไทยอย่างมาร์ติน วิลเลอร์ ได้กล่าวว่า “คนไทยโชคดีมากๆ ที่ได้ในหลวงเป็นผู้นำ พระองค์ท่านเป็นคนที่ทำงานหนักมากเพื่อช่วยให้คนคิดได้ ช่วยให้คนอยู่ได้”


ภาวะผู้นำที่มีบุญญาบารมีเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่เกิดจากการพัฒนาบุคลิกลักษณะของแต่ละปัจเจกบุคคล เท่ากับว่าผู้ใดที่ต้องการมีภาวะผู้นำดังกล่าวก็สามารถเป็นได้ถ้ามีการพัฒนาตนอยู่เสมอ


ที่มาของนิยามและคุณลักษณะของ Charismatic Leadership
www.leadership-with-you.com

วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

ภาพประทับใจอันงดงาม




เมื่อกล่าวถึงภาพที่งดงาม ส่วนใหญ่จะบอกว่างามเพราะ
เป็นภาพที่ให้แสงสวย หรือมีความคมชัด
แต่ภาพนี้คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าความงามอยู่ที่
 "เนื้อหา" ของภาพ


นั่นคือ

พระเมตตาขององค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล

ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยโดยไม่ถือพระองค์เลย


วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

อยู่อย่างจน หนทางสู่การอยู่รอด






แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอาจจะอธิบายได้ง่ายๆ ว่า


ยังไม่รวย...อยู่อย่างรวย...จะไม่รวย
ยังไม่จน...อยู่อย่างจน...จะไม่จน


"อยู่อย่างจน" 
คำนี้ฟังแล้วดูแปลก แต่หากใช้ใจ ฟังแล้วจะเข้าใจว่า
คือ พลังแห่งการอยู่รอด

เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงแทบทุกลมหายใจของมนุษย์ บางคนวันนี้ขึ้นรถเมล์ทั้งที่เมื่อวานขี่เบนซ์ นี่หรือคือความยั่งยืนในชีวิต ความเป็นจริงแล้ว สิ่งมีชีวิตบนโลกล้วนที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่ไม่่แน่นอนเหล่านี้ หากแต่เราตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ใช้ชีวิตแบบรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เราก็จะมีโอกาสอยู่รอดได้


"ถ้าการเปลี่ยนแปลงภายนอกเกิดขึ้นเร็วกว่าภายใน เท่ากับว่าถึงจุดจบอย่างแน่นอน"
Jack Welch อดีต CEO ระดับโลกได้ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องสำคัญ หากเราไม่รับรู้อะไรเลย ก็เท่ากับว่ากำลังอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการ "เสียรู้" ต่อสถานการณ์ที่ผันผวนอย่างปัจจุบันนี้




ขอยกตัวอย่างในเรื่องเงินๆทองๆ คนที่มีน้อยก็มักจะเก็บหอมรอมริบสะสมจนมีมาก แต่ก็ยังดำรงชีวิตอย่างที่เป็นมา อาจจะเพิ่มขึ้นบ้างตามกำลัง เช่น ตอนเงินเดือน 1 หมื่น นั่งค่ารถเมล์แบบลมโชย เดือนละ 1,000 บาท แต่พอเงินเดือน 20,000 บาท ก็เปลี่ยนมานั่งรถเมล์ปรับอากาศมากขึ้น เดือนละ 3,000 บาท ซึ่งก็จะยังมีเงินเก็บเยอะ ด้วยการประมาณตนเช่นนี้จะทำให้เป็นภูมิคุ้มกันในการอยู่รอดได้ แต่ถ้าจะผ่อนรถยนต์เดือนละเป็นหมื่นก็ต้องเหนื่อยหน่อย ไหนจะค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษา เงินเก็บก็จะลดลง ภาระความเสี่ยงก็จะต้องเพิ่มขึ้น


การมี จึงมิใช่สำคัญที่เราหาได้เท่าไหร่ 
แต่มันอยู่ที่เรานั้นใช้ไปและเก็บได้เท่าไหร่มากกว่า

ดังนั้นการอยู่อย่างคนจนที่แท้จริงแล้วคือ การพึ่งตนเอง
และการดำรงชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท ไม่ทำอะไรเกินตัว 
หรือ ไม่ทำอะไรที่เสี่ยงต่อต้องเสียสูญกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นนั่นเอง


วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554

คำพ่อสอน: ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

เมื่อก่อน มักคิดเกี่ยวกับเรื่องราวปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเอง ว่าเดี๋ยวมันก็ดีเอง ซึ่งในตอนนั้นไม่เคยได้ลงมือกระำืำทำอะไีรเพื่อแก้ปัญหา หวังแต่จะให้ผู้อื่นมาทำให้หรือให้สถานการณ์มันคลี่คลายไปเอง นึกถึงตอนนั้นชีวิตช่างน่าเบื่อ เพราะเราไม่ได้ใช้ศักยภาพและรู้คุณค่าของตนเองเลย


จวบจนวันนี้ หลังจากเติบโตขึ้นจากประสบการณ์และคนรอบข้างที่คอยให้กำลังใจทำให้สามารถหยัดยืนด้วยขาของตนเองได้อย่างมั่นคง จึงทำให้เมื่ออยากทำอะไรก็ทำด้วยตัวเองได้เลยอย่างภาคภูมิใจ โดยไม่ต้องรีรอ...


"ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" จึงเป็นสิ่งที่ยึดถือมาปฏิบัติใช้ในการดำรงชีวิต ดัง ตอนหนึ่งของพระราชดำรัสในวโรกาสเฉลิมพระชนม์พรรษา 4 ธันวาคม 2541 ที่ในหลวงภูมิพลตรัสไว้ว่า





"....ยืนบนขาของตนเอง (ซึ่งแปลว่า...พึ่งตนเอง) หมายความว่าสองขาของเรานี่ยืนบนพื้น ให้ยืนอยู่ได้ไม่หกล้ม ไม่ต้องไปยืมขาคนอื่นมาใช้สำหรับยืน"


สำหรับตนเองแล้ว มักคิดพิจารณาถึงความสามารถในตนเอง แล้วทำในสิ่งที่ตนถนัดเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ ดีกว่าต้องไปยืนบนขาใครๆ เพราะก็ไม่มั่นใจว่าใครๆ นั้น จะยอมให้เรายืนบนขาพวกเค้าได้อย่างมั่นคงหรือไม่ และได้อีกนานเพียงใด...